พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 3
เข้าสู่เดือนที่สามของการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวอ่อนทารกในครรภ์กลายเป็นทารกอย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ เด็กทารกในวัยสามเดือนในครรภ์นี้จะอวัยวะครบถ้วน คือมีแขน ขา ศีรษะ มีอวัยวะบนหน้าครบ สามารถอ้าปากและหุบปากได้ และมีเล็บมือเล็บเท้าด้วย ศีรษะจะมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว และแขนจะยาวกว่าขา แต่ด้วยขนาดตัวที่เล็กมากๆคือประมาณ 4 นิ้ว คุรแม่จึงยังจะไม่รู้สึกถึงการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของลูกน้อย โดยในเดือนนี้ลูกจะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที และมีหัวใจครบทั้งสี่ห้องแล้ว รวมถึงไตจะเริ่มทำงานโดยการขับของเสียออกจากร่างกายผ่านสายสะดือ
พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 3
ในช่วงเดือนนี้เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่าตัวอ่อนในครรภ์นั้นเติบโตเป็นทารกที่มีร่างกายสมบูรณ์พร้อมที่จะพัฒนาเป็นทารกที่ตัวโตขึ้นและแข็งแรงขึ้นในอนาคต โดยร่างกายของทารกนั้นจะมีศีรษะที่ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆครบถ้วน ได้แก่ หู(หูชั้นนอกเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วสังเกตได้จากว่าทารกมีใบหู) ตา(เปลือกตายังคงปิดอยู่ ยังไม่ลืมตา) จมูก รูจมูก ร่องปาก ปาก(ที่สามารถขยับได้ อ้าปากได้ หุบปากได้ เม้มปากก็ทำได้แล้ว สามารถดูดกลืนน้ำคร่ำรอบๆตัวได้และขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะ) และมีลิ้นเรียบร้อยแล้วด้วย ในส่วนของหูนั้นมีการเจริญเติบโตของงหูชั้นในที่มีหน้าที่รับการทรงตัวรวมถึงการได้ยินที่เริ่มใช้งานได้แล้ว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเริ่มพูดคุยกับลูกน้อยได้เพราะเขากำลังจะเริ่มได้ยิน ซึ่งเสียงของคุณพ่อคุณแม่โดยเฉพาะคุณแม่นั้นจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการทางการได้ยินของลูกได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ในครรภ์ นอกจากนี้นิ้วมือและนิ้วเท้าของลูกยังแยกออกจากกัน ทำให้สามารกำมือและขยับนิ้วเท้าได้ รวมทั้งมีเล็บมือเล็บเท้าที่กำลังจะงอกแล้วด้วย ในขณะที่ขนาดของแขนกับขาในช่วงนี้อาจยังไม่สมดุลกันนัก เนื่องจากทารกยังคงมีขนาดของแขนที่ยาวกว่าขา แต่อีกไม่นานขาก็จะยาวขึ้นและมีความสมส่วนมากยิ่งขึ้น ในส่วนของอวัยวะภายในนั้นเกิดขึ้นเรียบร้อยสมบูรณ์ดีรวมทั้งส่วนใหญ่จะเริ่มทำงานแล้วในช่วงเดือนนี้ ที่สำคัญเมื่อมาถึงการตั้งครรภ์ในเดือนที่สาม ทารกจะเริ่มแข็งแรงมากพอที่จะปลอดภัยหากได้รับยาหรือการติดเชื้อโรคต่างๆ โดยในช่วงนี้ทารกจะมีขนาดตัวประมาณ1นิ้วครึ่งและมีน้ำหนักประมาณ18กรัม
พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 3
ในเดือนที่สามแห่งการตั้งครรภ์นี้คุณแม่ยังคงอยู่ในภาวะที่แพ้ท้องอยู่ (ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนจะดีขึ้นมาก) แต่เริ่มทุเลาลงบ้างแล้ว ที่สำคัญคือจะไม่มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยๆเหมือนช่วงเดือนแรกๆแล้ว แต่ในเรื่องของอารมณ์คุณแม่ยังคงมีอาการอารมณ์ที่อ่อนไหวแปรปรวนง่าย กล่าวคือหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย แม้แต่เพียงแค่เรื่องเล็กๆน้อยๆก็สามารถทำให้คุณแม่อารมณ์เสียได้ทั้งนี้เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป ดังนั้นหากคุณแม่ท่านใดที่ยังนิ่งนอนใจไม่ไปฝากครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจครรภ์ให้ละเอียด รวมถึงต้องมีการเจาะเลือดเพื่อเช็คระดับของสารเคมีต่างๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด กรุ๊ปเลือด ค่าตับ ค่าไต ระดับน้ำตาล และไขมันในเส้นเลือด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกเป็นสำคัญ โดยในระยะนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นราวๆ 10% ของน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์หรือไม่เกินครึ่งกิโลต่อสัปดาห์ ในส่วนของพัฒนาการทางด้านร่างกายของคุณแม่นั้นในช่วงนี้เต้านมจะหนักขึ้น เนื่องจากต่อมน้ำนมเตรียมพร้อมในการทำงาน รวมถึงมีความรู้สึกเจ็บถ้าสัมผัส และสามารถรู้สึกถึงยอดมดลูกได้ว่าอยู่ระดับเหนือกระดูกหัวหน่าว
การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 3
ในช่วงเวลานี้คุณแม่ควรเริ่มศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงดุเด็กจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือจากพยาบาลหรือแพทย์ไว้ล่วงหน้า รวมถึงสอบถามวิธีการประพฤติปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่เองด้วย และควรศึกษาจากการอ่านหนังสือตำรับตำราหลายๆเล่มเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคต เนื่องจากการตั้งครรภ์ในช่วงนี้นั้นอาการแพ้ท้องได้ลดลงมากแล้ว อีกทั้งยังมีความคล่องตัวสูงอยู่จึงเหมาะสมกว่าที่จะไปเริ่มทำการเรียนรู้เมื่อร่างกายขยายใหญ่ และเริ่มมีอาการอุ้ยอ้ายในช่วงหลังๆของการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่คุณแม่และคุณพ่อจะมีกิจกรรมศึกษาวิธีเลี้ยงดูลูกร่วมกันและยังเป็นการเสริมสร้างความคุ้นเคยในการเป็นพ่อคนแม่คน รวมทั้งสร้างและสานความผูกพันกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจในการปฏิบัติตัวและการเลี้ยงดูลูกแล้ว จะเสริมความเข้มแข็งในจิตใจของคนในครอบครัว เสริมความสบายใจแก่คุณแม่ทำให้การตั้งครรภ์ในครั้งนี้เต็มไปด้วยความรักความเข้าใจกันอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสภาพจิตใจของคุณแม่ และความเข้าใจของคุณพ่อและกำลังใจจากคนรอบตัวนั่นเอง นอกจากนั้นคุณแม่ยังควรนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่และให้เพียงพอแก่ความต้องการ รวมถึงไม่ขาดการรับประทานวิตามินเกลือแร่ตามที่แพทย์สั่งด้วย เช่นเดียวกับในเดือนที่ผ่านมา
ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 3
ในช่วงเดือนที่สามแห่งการตั้งครรภ์นี้ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งได้โดยง่าย ดังนั้นจึงห้ามคุณแม่ทำงานหนักและทำงานฝืนเกินกำลังของตนเอง รวมถึงงดออกกำลังกายที่หนักเกินไปแต่ให้เปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายที่เบาๆแต่สม่ำเสมอแทน ไม่ว่าจะเป็นการยืดเส้นยืดสายด้วยการเดินเบาๆ กายบริหารร่างกายเบาๆ ออกกำลังด้วยการเดินในน้ำ การเล่นโยคะสำหรับคนท้อง ที่สำคัญอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะท้องผูกเพราะในคนท้องมีโอกาสที่จะมีการเคลื่อนตัวช้าของอุจจาระในลำไส้ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้อุจจาระแข็งและเกิดการเจ็บปวดขณะขับถ่ายได้ รวมทั้งอย่าลืมดื่มนมให้เป็นนิสัยเพื่อป้องกันการขาดโปรตีนของทารกด้วย คุณแม่จึงควรได้รับกรดโฟลิก และวิตามินรวมให้ได้วันละ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ จนถึงปลายสัปดาห์ที่ 12