พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 7
เหลือระยะเวลาอีกเพียงสามเดือนคุณแม่ก็จะได้เห็นหน้าลูกน้อยแล้วนะคะ เป็นยังไงกันบ้างเอ่ยตื่นเต้นมั้ยคะ ทำใจดีใจเย็นค่ะเพราะในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์นี้เป็นระยะที่ยิ่งต้องระวังเนื้อระวังตัวเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าเพราะเป็นช่วงเดือนที่ร่างกายของคุณแม่จะมีลักษณะอุ้ยอ้ายร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้เดินไปไหนมาไหนลำบาก กลับกันกับเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในท้องที่ร่างกายของเค้าจะมีการสะสมไขมันในปริมาณที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ลูกจะมีขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้นและแข็งแรงมากขึ้นตามอายุครรภ์ของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย
พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 7
ตอนนี้ลูกได้กลับเอาหัวลงมาจ่อที่ปากมดลูกเรียบร้อยแล้วนะคะ แถมยังลืมตา กระพริบตา ขยิบตาได้แล้ว รวมถึงอาจจะมองเห็นด้วย และยังคงมีไขมันเคลือบอยู่เพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งต่างๆรอบตัว ทารกในช่วงเดือนนี้จะมีการสะสมไขมันไว้ใต้ผิวหนังในร่างกายแล้ว ถึงแม้ว่าผิวพรรณยังเหี่ยวไม่อ้วนท้วนก็ตาม ทางด้านของสมองนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพและสติปัญญาเริ่มเจริญขึ้นมากในเวลานี้ ส่วนต่างๆภายในปากจะเติบโตขึ้นรวมถึงต่อมรับรสที่สามารถรับรสชาติต่างๆได้ดีขึ้นอีก แต่ในส่วนของปอดยังไม่พัฒนาเต็มที่นักดังนั้นหากทารกคลอดก่อนกำหนดในช่วงนี้จึงยังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องใส่ตู้อบและใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าระบบการหายใจของปอดจะพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น ในส่วนของการได้ยินทารกจะได้ยินดีขึ้นโดยจะสามารถสังเกตได้จากการดิ้นของทารกในครรภ์เมื่อมีเสียงดังเกิดขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกในท้องแล้วนำมือมาสัมผัสโดยวางลงบนท้องของคุณแม่ ก็จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์อย่างชัดเจน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถหยอกล้อและเล่นกับลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์ด้วยการพูดคุยและให้คุณพ่อลูบท้องของคุณแม่ระหว่างที่คุยกับลูก เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลุกแล้วยังช่วยส่งเสริมให้เกิดความผูกพันก่อให้เกิดสายใยความรักระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย โดยในเดือนที่ 7 นี้ทารกจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 37 ซม. และมีน้ำหนักราวๆ1กิโลกรัม
พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 7
พัฒนาการในส่วนของตัวคุณแม่เองในเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์นี้ที่เห็นได้ชัดก็คือขนาดของเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้นและมองเห็นเส้นเลือดดำที่ทรวงอกได้อย่างชัดเจน และที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นมากเพราะว่าขนาดของทารกนั้นใหญ่ขึ้นเกือบเป็นสองเท่าของเดือนที่ผ่านมา โดยจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายอดมดลูกจากที่อยู่ในระดับสะดือจะอยู่สูงขึ้นมาตรงกึ่งกลางระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ ซึ่งขนาดของครรภ์นี้เองจะมีส่วนทำให้คุณแม่หลังงอจนเกิดภาวะหลังคดได้เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นอีก จึงควรหลีกเลี่ยงการค้อมตัวไปข้างหน้าแต่ให้พยายามยืนตัวตรงเพื่อป้องกันภาวะนี้ ซึ่งในช่วงนี้ในคุณแม่บางคนอาจเกิดรอยแตกลายที่หน้าท้อง ต้นขา สะโพกได้ด้วยเพราะนอกจากที่ครรภ์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วน้ำหนักส่วนที่เพิ่มมากขึ้นอีกส่วนหนึ่งมาจากต้นขาและสะโพกที่สะสมไขมันเอาไว้อีกเช่นกัน รวมทั้งอาจมีอาการเจ็บท้องเตือนได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อทราบดังนี้แล้วคุณแม่จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในการทำกิจกรรมที่หนักและกิจกรรมที่ต้องนั่งยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่เอง ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่เดือนนี้คุณแม่จำเป็นต้องเลือกใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบายเพื่อป้องกันการรัดที่หน้าท้อง โดยสามารเลือกใส่เป็นชุดคลุมท้อง หรือเสื้อตัวโคร่งๆกับกางเกงที่มีหูรูดเพื่อปรับเปลี่ยนขนาดของเอวกางเกงได้ตามชอบ และเพื่อความสะดวกสบาย รวมถึงยังสามารถใช้สวมใส่ได้เมื่อหลังคลอดอีกด้วย แต่ที่สำคัญคือควรเลือกเนื้อผ้าที่เบาสบาย ระบายอากาศได้ดีเพราะคุณแม่จะมีอาการขี้ร้อน ต้องไม่รัดจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้ แต่ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีวงแขนกับหน้าอกกว้างเพื่อรองรับการขยายตัวของทรวงอกในอนาคต หรือคุณแม่อาจเลือกเสื้อที่มีกระดุมผ่าหน้าเพราะจะได้ใช้ใส่ให้นมลูกไหลังคลอดด้วย ควรสวมเฉพาะรองเท้าส้นเตี้ยที่สามารถรับน้ำหนักได้ดี ไม่ลื่นและมีน้ำหนักไม่เบา งดรองเท้าที่ใช้วิธีการผูกเชือกเนื่องจากคุณแม่จะก้มตัวลงไปผูกเชือกลำบาก
การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 7
ปัญหาที่พบบ่อยของคุณแม่ในช่วงนี้ก็คืออาการท้องอืดเนื่องจากอาหารไม่ย่อย จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายแต่ให้โปรตีนสูงประเภทปลา เต้าหู้ นม ไข่ หลีกเลี่ยงอาหารทอดและไขมันสูงเนื่องจากย่อยยากและทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดขึ้นสูงได้ เน้นการรับประทานผักผลไม้ที่มีสีสันที่หลากหลายเพื่อที่จะได้รับวิตามินแร่ธาตุให้เพียงพอโดยไม่ลืมรับประทานยาและวิตามินตามแพทย์สั่งด้วย ดื่มน้ำให้มากเพื่อลดภาวะท้องผูกและบรรเทาอาการเจ็บขณะขับถ่ายในกรณีที่เป็นริดสีดวง คุณแม่ที่ยังคงทำงานอยู่ควรจัดการเขียนจดหมายลาคลอดเพื่อวางแผนการในการคลอดให้เหมาะสม รวมถึงจะได้มีเวลาตรวจสอบในเรื่องสวัสดิการต่างๆให้เรียบร้อย ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือควรไปพบแพทย์ตามนัดให้ครบถ้วนอยู่เสมอ รวมถึงพยายามนอนพักผ่อนให้มากที่สุดด้วย
ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 7
สิ่งที่ต้องระวังสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในเดือนที่ 7 นี้คล้ายคลึงกับเดือนที่ผ่านมา เพียงแต่ควรเพิ่มเติมความระมัดระวังให้มากขึ้นเนื่องด้วยขนาดของท้องที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวลำบาก จึงควรเดินช้าๆ ไม่วิ่ง และหลีกเลี่ยงการขึ้นบันไดการปีนหรือการขึ้นลงที่สูงชัน หากจำเป็นควรมีคนอยู่ด้วยคอยช่วยพยุงเพื่อป้องกับการหกล้มซึ่งอาจจะนำมาสู่ภาวะแท้งบุตรได้