พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 8

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 8

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 8

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วนะคะกับบทบาทการเป็นคุณแม่  เผลอแป๊ปเดียวก็เข้าสู่เดือนที่ 8 แล้วเหลืออีกเพียงเดือนเดียวเราก็จะได้เห็นหน้าลูกน้อยกันแล้ว  เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนจะต้องตื่นเต้นกันแน่ๆที่สำคัญคือคงจะแอบเห่อเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ไว้สำหรับเจ้าตัวเล็กกันไว้บ้างแล้วใช่ไหมล่ะคะ  ฟังดูแล้วน่าสนุกจังเลยเพราะการที่คุณแม่ได้เลือกซื้อของให้กับลูกน้อยแสดงให้เห็นว่าคุณแม่ยังคงมีสุขภาพกายและใจที่ดีเพราะสามารถออกไปจับจ่ายสิ่งของได้อยู่ถึงแม้ว่าร่างกายจะอุ้ยอ้ายมากๆแล้วก็ตาม

 

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 8

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 สิ่งที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ก็คือเค้ามีขนาดศีรษะที่ใกล้เคียงกับเด็กแรกเกิดแล้วค่ะ  เพียงแต่ยังมีขนาดตัวที่เล็กกว่าเล็กน้อยออกไปทางผอม  แต่ประสาทสัมผัสของเค้านั้นดีขึ้นมากเลยค่ะเพราะตอนนี้ทารกรับรู้ถึงแสงสว่างได้แล้ว  เค้าสามารถแยกระหว่างความมืดกับความสว่างได้  ดังนั้นหากอยากเล่นกับลูกพร้อมกับกระตุ้นพัฒนาการไปในคราวเดียวกันลองใช้ไฟฉายมาฉายไฟลงที่พุงของคุณแม่ดูค่ะ  ทารกจะมีปฏิกิริยากับแสงจากไฟฉายด้วยการกระดุกกระดิกหรืออาจดิ้นเลยทีเดียว  โดยกระตุ้นทุกๆวันอาจเป็นช่วงก่อนคุณแม่จะนอนก็ได้ค่ะ  โดยไม่ควรใช้เวลานานให้เล่นเพียงเพื่อช่วยกระตุ้นให้ทารกรับรู้ถึงแสงสว่างเล็กน้อยก็เพียงพอค่ะ  ตอนนี้ทารกกลับหัวลงจ่อไว้ที่ปากมดลูกแล้วนะคะ  ดังนั้นถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆทารกก็พร้อมที่จะคลอดได้ทุกเมื่อ  ซึ่งหากมีการคลอดในช่วงเดือนที่ 8 นี้ทารกส่วนใหญ่จะรอด  เนื่องจากปอดได้พัฒนาเพิ่มขึ้นจนเกือบสามารถใช้หายใจได้เป็นปกติแล้ว  โดยทารกจะมีความยาวของลำตัวประมาณ 40 ซม.  และมีน้ำหนักราวๆ 1.6 กิโลกรัม

 

พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 8

พัฒนาการของคุณแม่ในเดือนที่ 8 นี้ จะสังเกตเห็นเส้นกลางลำตัวได้อย่างชัดเจน  บางรายอาจเป็นสีดำคล้ำแต่จะจางลงเมื่อคลอดบุตรแล้ว  สะดือก็จะยืดตัวออกเนื่องจากท้องมีการขยายตัว  และจะมีการเจ็บบริเวณชายโครงเนื่องจากการถีบของทารก  และถ้าหากคุณแม่กังวลเรื่องการมีเพสสัมพันธ์กับคุณพ่อในช่วงนี้ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ  เพราะทารกจะได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีจากถุงน้ำคร่ำจึงจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับทารก  ยกเว้นในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะแท้งบุตรได้ถ้าหากเป็นเช่นนั้นควรงดกิจกรรมจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติหลังคลอดค่ะ จะมีการขยายตัวของกระดูกเชิงกรานทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการของร่างกายเพื่อการคลอดบุตรในอนาคต คุณแม่จึงควรฝึกออกกำลังกายบริเวณอุ้งเชิงกรานเอาไว้เพื่อความพร้อมและความแข็งแรงของบริเวณนี้โดยเฉพาะ  อีกทั้งการออกกำลังกายในส่วนของอุ้งเชิงกรานยังช่วยป้องกันภาวการณ์ปัสสาวะเล็ดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  โดยการฝึกขมิบเหมือนกับเราขมิบก้น  เริ่มจากการขมิบแล้วนับ 1-10 แล้วคลายออก  ทำเช่นนี้จนครบ10ครั้งถือเป็น1เซ็ต  โดยแต่ละวันคุณแม่ควรทำวันละ 10 เซ็ต  เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เกิดความแข็งแรงพร้อมในวันคลอด  รวมถึงช่วยป้องกันปัสสาวะเล็ดและเสริมความกระชับให้กับกล้ามเนื้อบริเวณที่ขมิบป้องกับหูรูดหย่อยยานได้เป็นอย่างดี

 

การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 8

คุณแม่อาจจะมีอาการปวดหลังและปวดขามากเป็นพิเศษ  ในบางรายอาจมีอาการเหน็บชา  รวมไปถึงการเป็นตะคริวร่วมด้วยเนื่องจากร่างกายต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น  และมีการไหลเวียนเลือดที่ไม่สะดวก  ให้คุณแม่ผ่อนคลายด้วยการลูบไล้ร่างกายอย่างแผ่วเบาที่สุดด้วยครีมบำรุงผิว  แช่ขาในถังน้ำอุ่น  ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายเบาๆ  และถ้าหากเป็นตะคริวให้ยืดขาออกแล้วงอนิ้วเท้าเข้าหาลำตัวเพื่อคลายเส้นที่ยึดก็จะสามารถช่วยบรรเทาปวดได้  โดยตะคริวนั้นมักจะเกิดในช่วงกลางดึกซึ่งจะนำความเจ็บปวดทรมานมาให้แก่คุณแม่เป็นอย่างมาก  จึงควรรับประทานวิตามินบีรวมอย่างสม่ำเสมอรวมทั้งแคลเซียม  เป็นประจำเพื่อป้องกันและลดการเกิดตะคริว  นอกจากนี้ช่วงนี้นั้นคุณแม่อาจจะหลับยากขึ้นเพราะอึดอัดและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว  จึงควรนอนตะแคงแล้วงอขาขึ้นข้างหนึ่งแล้วรองด้วยหมอนจะช่วยบรรเทาความปวดเมื่อยและช่วยให้หลับสบายขึ้นได้

 

ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 8

ข้อควรระวังของคุณแม่ในเดือนที่แปดคืออย่าหักโหมในการทำงานเพราะเป็นเดือนที่คุณแม่ควรตักตวงการพักผ่อนให้มากที่สุด  เพื่อเตรียมตัวคลอดและดูแลลูกน้อยหลังคลอด  เนื่องจากในการคลอดบุตรนั้นคุณแม่ต้องมีการเสียเลือดจำนวนหนึ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ  ดังนั้นการรับประทานอาหารให้เพียงพอและพักผ่อนให้มากๆจึงมีความจำเป็นเพราะจะทำให้สุขภาพของคุณแม่แข็งแรงพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ในชีวิต  และแข็งแรงมากพอที่จะดูแลและให้นมบุตรโดยมีระยะพักฟื้นไม่นานจนเกินไป  ซึ่งสุขภาพที่ดีจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วและทารกก็จะมีร่างกายที่แข็งแรงเช่นกัน  และต้องไม่ลืมที่จะตรวจเลือดด้วยว่าคุณแม่นั้นมีอาการโลหิตจางหรือไม่  กรุ๊ปเลือดอะไร  ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เลือดกะทันหันในเหตุสุดวิสัยไม่ว่าคุณแม่จะเลือกที่จะคลอดเองหรือมีความจำเป็นต้องผ่าคลอดก็ตามค่ะ  แต่ถ้าหากบริเวณปากช่องคลอดมีการติดเชื้อไม่ว่าจะด้วยเหตุใดคุณหมอจะเลือกให้คุณแม่คลอดด้วยวิธีผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคที่จะส่งผ่านจากแม่สู่ลูกขณะคลอดค่ะ