ในช่วงที่มีการตั้งครรภ์นั้น ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ค่ะ บางคนอาจสบายดีไม่มีอาการเลย แต่บางคนก็อาจเริ่มมีอาการกันตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เลย เช่น
คลื่นไส้ หรือ “แพ้ท้อง” เกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่จะเป็นมากตอนเช้ายามท้องว่าง คุณจึงควรมีขนมปังกรอบชนิดจืดวางไว้ใกล้ ๆ หรือหัวเตียงสักกล่อง รับประทานสัก 2-3 ชิ้นก่อนลุกขึ้นจากเตียง เคล็ดลับอีกอย่างคือระหว่างวัน คุณควรรับประทานเป็นอาหารอ่อน ทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
เหนื่อยง่าย เป็นเรื่องปกติธรรมดาในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยได้ พยายามงีบหลับบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้กระปรี้กระเปร่าและมีกำลังมากยิ่งขึ้น
ท้องผูก เป็นปัญหาของหลายคน แก้ไขไดไม่ยาก ให้รับประทานผลไม้สดและผักต่างๆ ที่มีเส้นใยมากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการใช้ยาถ่าย นอกจากแพทย์สั่ง
ปวดศีรษะ ซึมเศร้า ควรออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์และออกกำลังกายบ่อยๆ ต้องปรึกษาหมอก่อนรับประทานยาแก้ปวดใดๆ
สัญญาณเตือนถึงอาการผิดปกติที่ควรรีบไปพบแพทย์
การตั้งครรภ์ของคุณแม่ส่วนมากมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่อาจเกิดความผิดปกติขึ้นซึ่งจะมีผลทั้งต่อตัวคุณ แม่และลูกในครรภ์ หากคุณแม่มีอาการต่อไปนี้ให้รีบไปพบคุณหมอที่ฝากครรภ์ไว้ทันทีค่ะ
เสี่ยงต่อการแท้ง สำคัญสุดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถ้าคุณปวดท้อง มีอาการบีบเกร็งผิดปกติหรือมีเลือดออก
คลอดก่อนกำหนด ถ้าเริ่มมีการบีบรัดตัวของมดลูกหลายครั้งเป็นจังหวะสม่ำเสมอ หรือเริ่มมีน้ำเดินออกทางช่องคลอด ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์
มีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นข้อบ่งชี้ความผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น รกเกาะต่ำ (คือการที่รกเกาะตัวอยู่บริเวณปากมดลูก) หรือมีการลอกตัวของรกก่อนกำหนด
ครรภ์เป็นพิษ เป็นอาการผิดปกติที่เกิดร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะมาก น้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว บวม ปวดท้องอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว เป็นต้น
ติดเชื้อ มีไข้ มีการติดเชื้อของช่องคลอดหรือเป็นเริม ต้องแจ้งให้คุณหมอทราบเพราะโรคเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์เคลื่อนไหวเปลี่ยนไป ถ้าคุณรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเกินกว่า 12 ชั่วโมง หรือสังเกตว่าลักษณะการดิ้นเปลี่ยนไป ต้องรีบปรึกษาคุณหมอทันที
ครรภ์เกินกำหนด คือไม่มีสัญญาณว่าจะคลอดเมื่ออายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ไปแล้ว อาจมีปัญหาจากรกซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็ก คุณหมอจะจัดการทำคลอดให้โดยไม่รอช้า
ช่วงที่ตั้งครรภ์คุณต้องดูแลตัวเองให้ดี ด้านจิตใจก็อย่าเครียด ส่วนร่างกายก็ต้องได้รับทั้งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และการพักผ่อนที่เพียงพอ หมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ และพัฒนาการที่เปลี่ยนไปของร่างกายสม่ำเสมอค่ะ